พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเลือก ที่ปัจจุบันเจ้าของบ้านจำนวนมากให้ความสนใจ ผู้เขียนเองในฐานะผู้ทำงานออกแบบบ้าน ทุก ๆ ครั้งที่ได้สัมภาษณ์พูดคุยงานออกแบบกับว่าที่เจ้าของบ้านใหม่ เจ้าของบ้านเกือบ ทุกหลังมักถามถึงความคุ้มค่าในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อยู่เสมอ
ซึ่งคำตอบของคำถามแต่ละบ้านนั้นมีความแตกต่างกัน จำเป็นต้องสำรวจทิศทาง ตรวจเช็คงานหลังคา รวมทั้งสำรวจพฤติกรรมในการใช้พลังงานไฟฟ้าในแต่ละวัน เนื้อหานี้จึงเป็นเสมือนเช็คลิสต์ให้ผู้อ่านได้ตรวจเช็คได้ด้วยตนเองว่า บ้านของเราเหมาะสมกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์หรือไม่ มาสำรวจกันเลยครับ
รู้จักระบบ Solar Cell แล้วต้องเลือกให้เหมาะกับบ้าน
เจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยยังมีความเข้าใจผิดว่า บ้านที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์จะเหมาะกับบ้านที่ห่างไกลความเจริญและต้องใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เท่านั้น ความเป็นจริงแล้วโซลาร์เซลล์ปัจจุบันสามารถนำมาใช้ได้กับทุก ๆ พื้นที่ ทั้งในเมือง ชนบทและพื้นที่ห่างไกลความเจริญ กรณีนำมาใช้ร่วมกับบ้าน ปัจจุบันมีให้เลือก 3 ระบบหลักด้วยกันครับ
ระบบออฟกริด (Off Grid) เหมาะกับบ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่สวน ไร่ฟาร์ม หรือที่ดินตาบอดที่ไม่มีเสาไฟฟ้าผ่านหน้าบ้าน ซึ่งหากลงทุนเดินเสาไฟฟ้าเองจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ระบบ Off Grid มุ่งเน้นการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันจะดึงกระแสไฟจากแผงโซลาร์เซลล์โดยตรง และมีแบตเตอรี่สำรองเพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้าใช้ในยามค่ำคืน
ระบบออนกริด (On Grid) เป็นระบบที่ใช้กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ โดยกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์จะมุ่งเน้นการใช้งานร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน หากกระแสไฟฟ้าเหลือเกิน จะถูกแบ่งขายคืนให้กับการไฟฟ้า และหากผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้น้อย จะใช้กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าแทน ข้อดีของแบบออนกริด นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟได้แล้วยังได้กำไรจากการขายกระแสไฟให้ภาครัฐอีกด้วย
ระบบ Hybrid Grid เป็นระบบที่ผสมผสานระหว่าง Off Grid และ On Grid เข้าด้วยกัน โดยจะมีความใกล้เคียงกับระบบออนกริด โดยมีจุดแตกต่าง คือ ระบบไฮบริดมีแบตเตอรี่สำรองไว้สำหรับเก็บกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ จึงมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสามารถนำมาใช้ในยามค่ำคืนหรือช่วงเวลากระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าดับได้ แต่ระบบไฮบริดจะไม่สามารถขายกระแสไฟให้กับภาครัฐได้ และเนื่องจากในตอนนี้ระบบแบตเตอรี่ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงมาก ทำให้มีระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างนานมาก หรืออาจไม่คืนทุนเลย จึงยังไม่แนะนำให้ติดตั้งในตอนนี้ครับ
บ้านที่เหมาะกับการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์
- บ้านที่มีหลังคาลาดเอียงทางทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงได้รับแสงแดดและความร้อนจากดวงอาทิตย์ทางทิศตะวันตกและทิศใต้สูงสุดในแต่ละวันเป็นระยะเวลา 8-9 เดือนโดยประมาณ หากมีพื้นที่ติดตั้งโซล่าเซลล์ฝั่งดังกล่าวจะคุ้มค่ากว่าทิศอื่น ๆ
- บ้านที่มีพื้นที่ว่างสำหรับวางแผงโซล่าเซลล์
โดยปกติแล้วก่อนติดตั้ง เจ้าของบ้านควรทราบความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้ารวม เพื่อประเมินได้ว่าควรต้องติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ทั้งหมดกี่แผง แต่ละแผงมีสเปคเท่าไหร่ ตัวอย่างแผงโซล่าเซลล์ของ SCG หากใช้กับบ้านทั่วไปที่มีหลอดไฟ 20 ดวง ทีวี 2 เครื่อง เครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง (ขนาด 9000 BTU) และตู้เย็น 1 เครื่อง จะต้องใช้แผงโซล่าเซลล์ 5 แผง ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 10-14 ตร.ม.
- บ้านที่ใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากหรือสำนักงาน
พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ สามารถผลิตได้ช่วงกลางวัน หากการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหรืออาคารสถานที่ มุ่งเน้นการใช้งานกลางวันก็จะช่วยส่งกระแสไฟฟ้าได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเก็บสำรองในแบตเตอรี่ การติดตั้งโซล่าเซลล์ จึงคุ้มค่ามากและเหมาะอย่างยิ่งสำหรับสำนักงาน, Home Office, คาเฟ่, ร้านอาหาร ที่โดยปกติจำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้สำนักงานจำนวนมาก หรือบ้านไหนมีผู้สูงอายุ มีเด็ก ที่ปกติต้องอยู่บ้านทั้งวันและใช้พลังงานไฟฟ้าสูงเกิน 3,000 บาทขึ้นไป ก็เหมาะสมเช่นกันครับ
- บ้านที่กระแสไฟตกบ่อย
แม้ปัจจุบันในประเทศไทย ไฟฟ้าได้เข้าถึงเกือบทุกพื้นที่แล้ว แต่ก็มิได้หมายความว่ากระแสไฟฟ้าจะเสถียรทั้งหมด แม้แต่ในชุมชนเมืองบางพื้นที่ ที่มีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นมักเกิดปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ ทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟตกบ่อยครั้ง การมีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เองด้วยแผงโซล่าเซลล์ จึงเป็นเสมือนตัวช่วยประกันความเสี่ยงในการใช้พลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
- บ้านสวนสนามกว้างสายไฟไปไม่ถึง
โซล่าเซลล์ไม่ได้มีเฉพาะแบบแผงสี่เหลี่ยมที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาเท่านั้น ยังมีในรูปแบบอื่น ๆ ให้เลือกใช้งาน อาทิ ไฟตกแต่งสวนโคมไฟโซล่าเซลล์แบบฝังพื้น โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์แบบปักสนาม ที่สะดวกสำหรับบ้านสนามหญ้ากว้าง ๆ จึงไม่จำเป็นต้องเดินระบบสายไฟออกไกลนอกบ้าน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและลดอันตรายจากการต่อสายไฟออกมากลางแจ้งได้เป็นอย่างดี
ในท้ายนี้ขอเพิ่มเติมข้อสังเกต ในกรณีบ้านที่ไม่เหมาะติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพราะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น คือ บ้านที่มีอาคารสูงบังทางทิศใต้หรือทิศตะวันตก บ้านที่มีพื้นที่หลังคาน้อยหรือโครงสร้างหลังคาไม่รองรับ หรือบ้านที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยมีค่าไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน หากติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนครับ
การวางแผนเรื่องพลังงานระยะยาวด้วยการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ อาจจะดูเป็นการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่หากคำนวณค่าไฟฟ้าที่ลดได้ต่อปีคูณอายุการหลังจากการคืนทุน (ประมาณ 7-10 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดระบบและปริมาณการใช้ไฟ) ต่อไปถึง 25 ปี ถือว่าเป็นการลงทุนครั้งเดียวที่คุ้มค่า นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าแล้ว ยังอาจมีรายได้เพิ่มจากการขายไฟฟ้าส่วนเกิน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์โลกของเราด้วยวิถีที่ยั่งยืนอีกด้วยครับ